โครงสร้างของระบบสนับสนุนการตัดสินใจเตือนภัยน้ำท่วม
ขั้นตอนที่สำคัญสี่ขั้นตอนในการพยากรณ์และแจ้งเตือนน้ำท่วมฉับพลันได้แก่ การตรวจอากาศเพื่อให้ทราบสภาวะอากาศปัจจุบัน การสื่อสารเพื่อรวบรวมข้อมูลผลการตรวจอากาศ การวิเคราะห์ข้อมูลและทฤษฎีการพยากรณ์เพื่อการคาดหมาย และการแจ้งข่าวเพื่อออกคำเตือน โดยระบบจะเริ่มทำงานเรียงลำดับตั้งแต่ขั้นตอนแรกเป็นการบันทึกผลการตรวจอากาศที่ได้รับจากสถานีตรวจอากาศอัตโนมัติ (AWS) ขั้นตอนที่สองคือการวิเคราะห์ผลการตรวจอากาศที่ได้จากขั้นตอนแรกโดยการกำหนดค่าวิกฤตของพารามิเตอร์ทางอุตุนิยมวิทยาแต่ละตัว เพื่อแสดงการเปลี่ยนแปลงของพารามิเตอร์ทางอุตุนิยมวิทยา และแสดงเสถียรภาพของบรรยากาศซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดฝนตกหนัก และได้นำเอาภาพดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา และผลลัพธ์จาก NWP มาร่วมประกอบในการคำนวณโดยใช้ทฤษฎีโครงข่ายใยประสาทเทียม (ANN) เป็นเครื่องมือในการพยากรณ์อากาศ ขั้นตอนที่สามคือการคาดหมายการเปลี่ยนแปลงและการเคลื่อนที่ของตัวระบบลมฟ้าอากาศที่วิเคราะห์ได้ในขั้นตอนที่สอง ขั้นตอนที่สี่คือการแจ้งเตือนเพื่อออกคำเตือน ณ ช่วงเวลาและบริเวณที่ต้องการ โดยพิจารณาจากตำแหน่งและความรุนแรงของระบบลมฟ้าอากาศที่ได้ดำเนินการไว้แล้วในขั้นตอนที่สาม ไปยังสื่อมวลชนเพื่อเผยแพร่ต่อไปสู่ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย และส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป ตามความเหมาะสม เช่นกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ท่านสามารถดาวน์โหลดเอกสาร/แผ่นพับ เพิ่มเติมได้ที่ส่วนดาวน์โหลดหรือ คลิ๊กที่นี่